โรคเบาจืด (Diabetes insipidus – DI) เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถเก็บรักษาสมดุลของน้ำในร่างกายได้ จึงทำให้มีอาการถ่ายปัสสาวะบ่อยและปัสสาวะออกครั้งละมาก ๆ ร่วมกับมีอาการกระหายน้ำมากคล้ายโรคเบาหวาน

โรคเบาจืด

โรคนี้เป็นโรคที่พบได้น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากผลแทรกซ้อนของการผ่าตัดทางสมองมากกว่า โดยจะพบได้ประมาณ 1 ราย ต่อประชากร 25,000 คน หรือประมาณ 3 ราย ต่อประชากร 100,00 คน สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ใกล้เคียงกัน ส่วนมากมักพบเกิดในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กอาจพบได้บ้าง ซึ่งมักเป็นเด็กโต

สาเหตุโรคเบาจืด

การควบคุมปริมาณของปัสสาวะในภาวะปกติจะขึ้นอยู่กับฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะที่มีชื่อว่า “เอดีเอช” (Antidiuretic hormone – ADH) หรือมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “เวโซเพรสซิน” (Vasopressin) ซึ่งปกติแล้วฮอร์โมนเอดีเอชนี้จะสร้างจากสมองส่วนลึกในชั้น “ไฮโปทาลามัส” (Hypothalamus) และถูกนำมาเก็บไว้ที่กลีบหลังของต่อมใต้สมองส่วนหลัง (Posterior lobe of the pituitary gland) เพื่อหลั่งออกมาควบคุมการทำงานของไตให้ดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายให้อยู่ในระดับสมดุล ไม่ปล่อยออกมาเป็นปัสสาวะทั้งหมด แต่ทั้งนี้การทำงานของกระบวนการนี้จะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อไตมีสภาพเป็นปกติด้วย เพื่อที่จะสามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนเอดีเอชได้

จะเห็นได้ว่ากลไกการกักเก็บน้ำของร่างกายจะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของไตและฮอร์โมนเอดีเอชจากต่อมใต้สมอง แต่เมื่อสมดุลในกระบวนการนี้เกิดเสียไป โดยที่ตัวใดตัวหนึ่งเกิดบกพร่องในหน้าที่หรือทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการที่ต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนเอดีเอชได้น้อยกว่าปกติ (เกิดจากความผิดปกติในสมอง ซึ่งพบได้เป็นส่วนมาก) หรือเกิดจากเซลล์ไตไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเอดีเอช (เกิดจากความผิดปกติในไต ซึ่งพบได้เป็นส่วนน้อย) ไตก็จะไม่สามารถดูดซึมน้ำเข้ากลับเข้าสู่ร่างกายได้ ปริมาณของปัสสาวะจึงเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ ส่วนปริมาณของปัสสาวะจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

การรักษาโรคเบาจืด

การดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาจืด ควรปฏิบัติดังนี้

  1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
  2. รับประทานยาหรือใช้ยาต่าง ๆ ตามที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ครบถ้วน และตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยาหรืองดยาเองเมื่ออาการหายไป เพราะโรคนี้แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้เลยถ้ายังไม่แก้ที่สาเหตุ
  3. ผู้ป่วยจึงต้องใช้ยาควบคู่อยู่เสมอ ผู้ป่วยควรสอบถามถึงผลข้างเคียงของยาจากแพทย์ด้วย เพราะยาที่ใช้รับประทานควบคุมอาการเบาจืดหลายตัวอาจมีผลแทรกซ้อนบางอย่าง ถ้าเรารู้ผลแทรกซ้อนเหล่านี้ก็จะได้เตรียมปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง เช่น ยาบางตัวมีผลทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ อย่างนี้แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารให้ตรงเวลา และอาหารที่รับประทานควรมีแป้งและน้ำตาลอย่างเพียงพอ มิฉะนั้นจะทำให้ร่างกายขาดน้ำตาลได้ หรือยาบางตัวมีผลทำให้ร่างกายขาดเกลือแร่ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
  4. ผู้ป่วยจำเป็นต้องดื่มน้ำสะอาดบริสุทธิ์ให้เพียงพอ ไม่มากไปหรือน้อยไป และพกน้ำเอาไว้ติดตัวอยู่เสมอ โดยให้ดื่มในช่วงเช้าและกลางวันให้มากกว่าช่วงเย็นและช่วงกลางคืน และถ้าเมื่อใดก็ตามที่ต้องออกไปอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัด (ร่างกายต้องสูญเสียน้ำไปทางผิวหนังมาก) หรือผู้ป่วยมีอาการท้องเสีย ท้องเดิน ก็ต้องพยายามดื่มน้ำทดแทนให้มากพอ ซึ่งคำว่ามากพอในที่นี้หมายถึง ดื่มน้ำจนหายกระหายน้ำ หรืออาจจะให้แพทย์แนะนำว่าในผู้ป่วยแต่ละรายควรดื่มน้ำมากน้อยเพียงใดจึงจะพอ
  5. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะอาหารที่เค็มจัดจะมีเกลือมาก ร่างกายจะขับเกลือออกทางไตและออกมากับปัสสาวะ เป็นเหตุให้ร่างกายถูกดึงน้ำออกไปมาก ทำให้ขาดน้ำมากขึ้นไปอีก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้อาการของเบาจืดก็จะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
  6. พักผ่อนให้เพียงพอ ด้วยการดื่มน้ำให้น้อยลงหรืองดดื่มน้ำก่อนเข้านอนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เพื่อช่วยลดจำนวนครั้งในการตื่นมาปัสสาวะ
  7. ผู้ป่วยควรพกบัตร ข้อความ หรือเอกสารที่ระบุว่าตัวเองเป็นใคร เป็นโรคอะไร
  8. รับประทานยาอะไร และรักษาอยู่ที่ไหนติดตัวไว้อยู่เสมอ เผื่อเกิดภาวะฉุกเฉินจากการขาดน้ำจะได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง รับประทานผักผลไม้ให้มาก ๆ เพื่อให้ร่างกายได้เกลือแร่ที่เพียงพอ
  9. ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหรืออาการต่าง ๆ เลวลง หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่

โรคนี้เมื่อได้รับการรักษาแล้ว อาการมักจะทุเลาได้ดีและสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ ส่วนการรักษาจะนานเพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ตรวจพบ ผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลาไม่นานและรักษาจนหายขาดได้ แต่บางรายก็อาจต้องใช้ยารักษาไปตลอดชีวิต